บันทึกธรรมพระราชพรหมยาน
อุเบกขาตัวนี้ คือวางเฉยต่ออาการของชาวบ้าน ชาวบ้านที่ทำให้เราไม่ชอบใจก็ดี ทำให้เราชอบใจก็ตาม เราเฉยเสียไม่ยอมรับนับถือทั้งชอบใจและไม่ชอบใจนะขอรับ นี่เป็นเรื่องธรรมดาๆ นะ แล้วถ้าสูงขึ้นไปอีกนิด ก็อุเบกขาเหมือนกัน วางเฉยในขันธ์ 5 นี่สำคัญนะขอรับตัวนี้เป็นตัวแท้ ไอ้ตัวเมื่อกี่นี้ตัวหน้าตัววางเฉยเรื่องราวของชาวบ้านที่เขาพูดไม่ถูกหรือทำไม่ถูกใจ หรือทำไม่ถูกใจ พูดไม่ถูกใจ เราวางเฉยไม่เอาอารมณ์ไปยุ่ง ไอ้ยังงี้เป็นเรื่องเปลือกๆ เป็นอาการของเปลือก ไม่ใช่เนื้อ อุเบกขาที่แท้ต้องเป็นสังขารรุเปกขาญาณวางเฉยในขันธ์ 5 เรื่องของขันธ์ 5 มันจะรับอะไรมาก็ตาม เราเฉยเสีย คิดว่านี่เป็นธรรมของคนที่เกิดมามีชีวิต คนที่เกิดมามีขันธ์ 5 มันต้องมีอาการอย่างนี้เป็นปกติ ไม่มีใครจะพ้นอาการอย่างนี้ไปได้ ถึงแม้ว่าเราจะหลีกหนีให้พ้นไปสักขนาดใดก็ตาม เราจะมีเงินมีทองมีอำนาจวาสนาบารมียังไงก็ตาม ไม่สามารถจะพ้นโลกธรรม 8 ประการไปได้ คือ 1. มีลาภ 2. เสื่อมลาภ 3. มียศ 4. เสื่อมยศ 5. นินทา 6. สรรเสริญ 7. สุข 8.ทุกข์
อาการ 8 ประการนี้ คนในโลกทั้งหมดหนีไม่พ้น ที่นี้เมื่ออาการภายนอกอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นมา เราก็วางเฉยเสีย ถือว่าเรื่องของขันธ์ 5 เป็นธรรมดา คนมีขันธ์ 5 ต้องมีการกระทบกระทั่งทั้งทางหูและทางตา หนีไม่ได้ก็ปล่อยมัน เหมือนกับคนเดินอยู่กลางทุ่งที่ไม่มีอะไรบัง ฝนจะตกก็ดี แดดจะออกก็ดี ก็ต้องถูกตัว แต่เราก็ไม่โกรธแดดโกรธฝน เพราะถือเราเป็นคนเดินดิน มันหนีไม่พ้น ทีนี้มาถ้าขันธ์ 5 มันป่วยไข้ไม่สบาย หรือมันจะตาย เราก็วางเฉยอีก เพราะว่าขันธ์ 5 สภาวะมันเป็นอย่างนี้ มันจะพังอย่างนี้ มันจะต้องป่วยอย่างนี้เป็นของธรรมดา เราก็เฉยมันเสียแต่ไม่เฉยเปล่านะ เอาจิตเข้าไปจับพระนิพพานเป็นอารมณ์ด้วย และนอกจากนั้น ถ้ารักษาเพื่อระงับเวทนาได้ก็ควรรักษา เมื่อรักษามันหายก็หาย ไม่หายก็ตามใจ นี่เรื่องของมัน วางเฉยไว้ คิดว่าถ้ามันทรงอยู่เราก็จะเลี้ยงมันไว้ ถ้ามันทรงอยู่ไม่ได้ เราก็จะไปนิพพาน ขันธ์ 5 มันเป็นตัวถ่วง เป็นตัวให้เกิดในวัฏฏสงสาร ถ้าเราข้องใจในมันเมื่อไร ความทุกข์ก็ไม่ถึงที่สุดเมื่อนั้น หมายความว่าความทุกข์มันก็จะปรากฏเมื่อนั้น ถ้าเราเลิกข้องใจกับมันเมื่อไร เลิกสนใจกับมันเมื่อไร เราก็สิ้นทุกข์เมื่อนั้น
จาก หนังสือ มหาสติปัฏฐาน4 หลวงพ่อพระราชพรหมยาน
"..การเพ่งโทษผู้อื่น ทำให้ตัวเองไม่เป็นสุข
แต่การเพ่งดูใจตนเอง ทำให้เป็นสุขได้
แม้กำลังโกรธมาก หากเพ่งดูใจตัวเองให้เห็นว่ากำลังโกรธมาก ความโกรธก็จะลดลง หากเพ่งดูใจตัวเองให้เห็นว่ากำลังโกรธน้อย ความโกรธก็จะหมดไป
จึงกล่าวได้ว่า ไม่ว่าจะมีอารมณ์ใดก็ตาม โลภ หรือโกรธ หรือหลงก็ตาม หากเพ่งดูใจให้เห็นอารมณ์นั้นแล้ว อารมณ์นั้นจะหมดไป ได้ความสุขมาแทนที่ ทำให้มีใจสบาย.."
สมเด็จพระญาณสังวรฯ
นักขัตตชาดก
ว่าด้วยประโยชน์คือฤกษ์
มีคหบดีอยู่ในชนบทท่านหนึ่ง ต้องการไปสู่ขอกุลธิดาในกรุงสาวัตถีให้แก่บุตรชายของตนเอง ได้กำหนดวันสู่ขอและนัดหมายกันไว้เรียบร้อยแล้ว ครั้นถึงวันนัดหมายจึงไปถามอาชีวกในตระกูลของตน เขามีความโกรธมากที่ไม่มาปรึกษาตนก่อน กำหนดวันเอาตามพอใจตน จึงต้องการที่จะสั่งสอนเขาเสียบ้าง แล้วพูดว่าวันนี้ฤกษ์ไม่ดีถ้าขืนทำไปจักพินาศใหญ่ เขาจึงเชื่อและเลื่อนกำหนดการสู่ขอเป็นวันรุ่งขึ้นตามที่ตนนัด
ฝ่ายบ้านเจ้าสาวได้จัดงานมงคลไว้พร้อมแล้ว ไม่เห็นพวกเจ้าบ่าวมาตามที่นัดหมาย จึงยกธิดาของเขาให้แก่ตระกูลอื่นไป พอวันรุ่งขึ้นขบวนเจ้าบ่าวคหบดีมาสู่ขอ ชาวเมืองสาวัตถีพากันบริภาษขบวนเจ้าบ่าวว่า พวกท่านสมกับที่ได้ชื่อว่าเป็นคนบ้านนอก ขาดความเป็นผู้ดี เป็นคนลามก กำหนดวันไว้แล้ว ดูหมิ่นเสียไม่มาตามกำหนด เชิญกลับไปตามทางที่มากันนั่นแหละ พวกเรายกเจ้าสาวให้คนตระกูลอื่นไปแล้ว คราวนี้จักนำ
ตัวเจ้าสาวที่ให้เขาไปแล้วมาอีกได้อย่างไรเล่า ? ทั้งสองจึงเกิดเรื่องทะเลาะวิวาทกันเรื่อง ที่ไม่ได้ตัวเจ้าสาว
พระศาสดาประทับอยู่วัดเชตะวัน เมืองสาวัตถี ตรัสถามว่า ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอกำลังสนทนากันเรื่องอะไร? ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลให้ทรงทราบ และพระศาสดาทรงเอาเรื่องในอดีตมาสาธก... ในครั้งนั้นพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติในกรุงพาราณสี มีชาวพระนครพากันไปสู่ขอธิดาของชาวชนบท กำหนดวันแล้วไม่มาตามนัด เพราะไปเชื่ออาชีวก ฝ่ายเจ้าบ่าวและฝ่ายเจ้าสาวได้โต้เถียงกันอยู่อย่างนี้ พอดีมีบุรุษผู้เป็นบัณฑิตชาวเมืองคนหนึ่ง ไปชนบทด้วยกิจการบางอย่าง ได้ยินว่าชาวเมืองไม่มาสู่ขอเจ้าสาวเพราะฤกษ์ไม่ดี ฤกษ์จะมีประโยชน์อะไร? เพราะการได้เจ้าสาวก็ถือเป็นฤกษ์ดีอยู่แล้ว มิใช่หรือ ? จึงได้กล่าวคาถานี้ความว่า...
"ประโยชน์ผ่านพ้น
คนโง่ ผู้มัวคอยฤกษ์ยามอยู่
ประโยชน์เป็นฤกษ์ของประโยชน์
ดวงดาวทั้งหลาย จักทำอะไรได้"
มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่อาชีวกนั้น ทำการขัดขวางงานมงคลของตระกูลนั้น ถึงในครั้งก่อนก็ได้กระทำแล้วเหมือนกัน ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาตรัสแล้ว ทรงสืบอนุสนธิประชุมชาดกว่า อาชีวกในครั้งนั้นได้มาเป็นอาชีวกในครั้งนี้ แม้ตระกูลทั้งสิ้นในครั้งนั้นก็ได้มาเป็นตระกูลในครั้งนี้ ส่วนบุรุษผู้เป็นบัณฑิตผู้ยืนกล่าวคาถาได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.
ขุ.ชา.เอกก.อ.(ไทย) ๓/๔๙-๕๓
๐๐๐ ประโยชน์ได้ล่วงเลย คนโง่เขลาที่มัวรอคอยฤกษ์ยามอยู่ ประโยชน์นั่นแหละเป็นฤกษ์ของประโยชน์ ดวงดาวทั้งหลายจักทำอะไรได้.
ขุ.ชา.อฏจก.(ไทย)๒๗/๔๙/๒๐
No comments:
Post a Comment